ประวัติความเป็นมา วัดถ้ำแสงเพชร จังหวัดอำนาจเจริญ

  ประวัติวัดถ้ำแสงเพชร 

สาขาที่ 5

ของวัดป่าหนองพง

หลวงพ่อชา สุภัทโท  เป็นผู้ก่อสร้างวัดถ้ำแสงเพชร  

       วัดนี้ตั้งอยู่ที่ บ้านดงเจริญ ตำบลหนองมะแซว อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ 37000 อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอำนาจเจริญ ไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนอรุณประเสริฐ เส้นทางอำนาจเจริญ – อ.เขมราฐ ประมาณ 10 กิโลเมตร 

          วัดถ้ำแสงเพชรนี้ตั้ง อยู่บนเชิงภูเขาขาม เขาลูกนี้ มีลักษณะลาดไปทางทิศตะวันออก จึงมีถ้ำเกิดขึ้นจากเพิงหินหลายแห่งในจำนวนนี้ได้มีถ้ำขนาดใหญ่อยู่ 2 แห่ง คือ ถ้ำพระใหญ่(ถ้ำแสงเพชร)และถ้ำพระน้อย(ถ้ำโคนอน)

          เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า ภูถ้ำขาม หรือ ถ้ำพระใหญ่ อยู่ท่ามกลางป่าไม้อันร่มรื่น มีต้นไม้นาๆชนิดขึ้นเขียวชอุ่ม อุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ เมื่อก่อนชาวบ้านแถวนี้อาศัยเข้าไปหาของป่าและล่าสัตว์เป็นประจำ

          มูลเหตุที่เรียกว่า ภูเขาขาม นี้ เนื่องมาจากมีต้นมะขามขนาดใหญ่ขนาด 4 คนโอบต้นหนึ่ง ขึ้นอยู่ใกล้เชิงผาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของภูเขา ใกล้กับต้นมะขามมีถ้ำอยู่แห่งหนึ่ง เล่ากันว่าเมื่อก่อนถ้ำนี้เป็นที่พำนักของ ฤาษีตนหนึ่ง ชาวบ้านจึงเรียกถ้ำนี้ว่าภูถ้ำขาม

          ประมาณปี พ.ศ.2498 พ่อใหญ่เทพ บุญหาญ,พ่อใหญ่กุ กัลยารัตน์,พ่อใหญ่จันทร์ การินทอง และพ่อใหญ่ เป็ง บุญกัณฑ์ ชาวบ้านหนองมะแซว ตำบลปลาค้าว อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนั้น ได้ว่าจ้างช่างมาปั้นพระช่างชื่อ นายสิงห์ โพธารินทร์ ชาวบ้านปลาค้าวมาปั้นรูป พระพุทธเจ้า และพระปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ไว้ที่ปากถ้ำขาม เพื่อเป็นที่สักการบูชาของชาวบ้านแถบนั้น ปีต่อๆมาเมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะมาพร้อมกันไปสงน้ำพระปัญจวัคคีย์ทั้งห้า มีขบวนแห่ดอกไม้ ตีฆ้อง ตีกลองไปพร้อมกันอยู่แรมคืนตลอดมาทุกปี

          เมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ.2511 พระโสม ถิรจิตโต ซึ่งมีความเลื่อมใสในปฏิปทาและเทศนาธรรมของหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อชา สุภัทโท และได้เล่าถึงสภาพป่าและภูเขาถ้ำขามว่าเป็นที่เหมาะสำหรับปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง พร้อมทั้งนิมนต์ให้ไปดูพื้นที่ หลวงพ่อชา สุภัทโท รับนิมนต์ 

          วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 หลวงพ่อชา สุภัทโท(พระโพธิญาณเถร)พร้อมด้วยพระมหาอมร เขมจิตโต(พระมงคลกิตติธาดาเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรมชาน์)และพระอาจารย์ โรเบิร์ต สุเมโธ(โรเบิร์ต แจคแมน)(พระราชสุเมธาจารย์)ได้เดินทางมายัง อำเภออำนาจเจริญ ซึ่งสมัยนั้นเป็นอำเภอหนึ่งของ จังหวัดอุบลราชธานี ในคราวนั้นหลวงพ่อชาพร้อมด้วยคณะได้เดินทางผ่านหน้าร้าน แสงชัยบริการ ซึ่งเป็นร้านของคุณกระจ่าง แซ่แต้ และคุณ แสงจันทร์ หอมศรี สองสามีภรรยาเจ้าของร้าน มองเห็นพระเถระที่มีจริยาวัตร อันงดงามน่าเคารพเลื่อมใสจึงเกิดความศรัทธา จึงได้นิมนต์เข้าไปนั่งในร้าน ถวายน้ำดื่ม และสอบถามถึงจุดหมายปลายทางที่จะเดินทางไป เมื่อควรแก่เวลา พระเถระทั้งสามรูป จึงเดินทางต่อไปจนถึง

          สำนักสงฆ์บ้านบกเตี้ย ซึ่งมี พระอาจารย์โสม ถิรจิตโต พำนักอยู่ (หลังจากสร้างวัดถ้ำแสงเพชรแล้ว สำนักสงฆ์นี้ก็ร้างไป ปัจจุบันนี้เรียกว่า วัดบ้านดงเจริญ) หลวงพ่อชาและคณะได้พักที่สำนักสงฆ์บ้านบกเตี้ย 1 คืน 

          ครั้นรุ่งขึ้นเช้าวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 หลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ หลวงพ่อชาและคณะพร้อมญาติโยมแถวนั้นอีก 2-3 คน เดินทางขึ้นภูถ้ำขาม เดินลัดเลาะไปตามป่า โดยอาศัยเส้นทางเดินป่าของชาวบ้านถิ่นนั้น ครั้นตกเย็น หลวงพ่อชา และคณะได้พักที่หน้าถ้ำพระใหญ่ โดยญาติโยมได้ทำนั่งร้านปูด้วยไม้กระดาน เป็นที่พักชั่วคราว 

          คืนนั้นหลวงพ่อชาและคณะ ได้ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทุกคืนอยู่ที่หน้าถ้ำแห่งนี้เป็นประจำ 

          ล่วงมาเข้าคืนที่ 4 ซึ่งตรงกับวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 หลังจากทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ และแผ่เมตตา เวลา ประมาณ 3 ทุ่ม ขณะที่กำลังนั่งพักผ่อนฉันน้ำปานะอยู่นั้น หลวงพ่อชา สุภัทโท ได้ปรารภกับ พระมหาอมร เขมจิตโตว่า สถานที่นั่งสมาธิบำเพ็ญธรรมแห่งนี้สงบเย็นสบาย ปลอดโป่รงใจดีเหลือเกิน เหมือนกับว่าเป็นที่เราเคยอยู่มาก่อน ถ้าไม่เห็นแก่สังขารจะนั่งสมาธิตลอดทั้งคืนโดยไม่นอนก็ได้ 

          หลวงพ่อได้ปรารภต่อไปอีกว่า ถ้ำแห่งนี้เขาเรียกว่า "ถ้ำแสงเพชร" พระมหาอมรจึงค้านว่า ชาวบ้านเขาเรียกว่า ถ้ำพระใหญ่ แต่หลวงพ่อชา ก็ยืนยันว่า ไม่ใช่ ต้องเรียกว่า ถ้ำแสงเพชร ถึงจะถูก ตั้งแต่นั้นมาถ้ำพระใหญ่จึงกลายเป็น ถ้ำแสงเพชร ตามที่หลวงพ่อชาได้ปรารภตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ไม่มีใครกล้าถามถึงมูลเหตุแต่อย่างใด

          ครั้นมาถึง พ.ศ.2515 ความจริงก็ได้มาเปิดเผยขึ้นมา โดยแม่พัด ซึ่งเป็นคนบ้านก่อ ได้มากราบนมัสการหลวงพ่อชาที่วัดหนองป่าพง แล้วแม่พัด เกิดอาการเหมือนเจ้าเข้าทรงพระมหาอมรจึงถือโอกาสสอบถามเกี่ยวกับ ความเร้นลับต่างๆหลายๆอย่าง  

          จนกระทั่งได้ถามถึงถ้ำแสงเพชรจากคำบอกเล่าของแม่พัดที่เข้าทรง ได้ความว่าที่ ถ้ำแสงเพชรนี้ เดิมในสมัยก่อน เป็นที่อยู่ของ พระยาเพชรราช เป็นเจ้าผู้ปกครองดั้งเดิม มีพระมเหสีอยู่ 2 พระองค์ พระยาเพชรราชเป็นผู้มีสมบัติ เพชรนิลจินดามากมาย แต่ไม่ยอมยกให้ใคร จากคำบอกเล่าของ แม่พัด พระมหาอมรจึงนึกได้ว่าคงเป็นเพราะเหตุนี้นั้นเอง หลวงพ่อชา สุภัทโท จึงได้ปรารภชื่อของถ้ำที่แท้จริง คือ ถ้ำแสงเพชร 

นอกจากนี้มีชาวบ้าน บ้านหาดทรายมูลได้เล่าให้ ฟังเมื่อคราว ไปถ้ำแสงเพชรครั้งแรก เมื่อพ.ศ.2511 ว่าก่อนหน้านั้นมี พระธุดงค์หลายรูปสะพายบาตรแบกกลด เข้ามาบำเพ็ญเพียรภาวนา อยู่ในบริเวณถ้ำแห่งนี้ และได้เกิดความโลภอยากได้สมบัติ เจ้าของผู้ดูแลรักษาสมบัติ จึงได้แสดงปาฏิหาริย์ เขย่าถ้ำ ราวกับหินจะพังลงมา จนพระภิกษุเหล่านั้นเกิดความกลัวต้องเตลิดหนไปอยู่ไม่ได้

          ถ้ำแสงเพชรนี้ ความจริงยังมีถ้ำลึกเข้าไปอีกถ้ำหนึ่ง ปากถ้ำอยู่ขวามือของถ้ำแสงเพชร ปากถ้ำใหญ่ประมาณ 1 เมตร แต่ลึกมาก หลวงพ่อโสม ถิรจิตโต เคยเข้าไปแต่ยังไปไม่สุดทางก็ต้องกลับออกมาก่อน เนื่องจากเป็นทางแคบ และมืดมากในถ้ำเคยมีพระพุทธรูปเล็กๆทำด้วยไม้ ทองและเงิน บางองค์เป็นพระผงคล้ายดินเผาผสมผงว่าน พระพุทธรูปที่ว่านี้อยู่จำนวนมากในถ้ำลึก

          หลวงพ่อชาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ของผู้แสวงหาความหลุดพ้น จึงได้ เริ่มปรับปรุงบริเวณหน้าถ้ำแสงเพชรโดยมีญาติโยมที่เป็นชาวบ้านใกล้เคียงมาช่วยเหลือจึงได้ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นที่อยู่ชั่วคราวได้แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่บนภูเขาสูง ไป - มาลำบาก หลวงพ่อชาจึงย้ายลงมาอยู่ที่ราบเชิงเขาทางทิศใต้ ได้มีญาติโยมผู้ศรัทธาผู้มีจิตศรัทธาได้ปลูกสร้างศาลามุงด้วยหญ้าคาไว้สำหรับ พระได้อาศัยบำเพ็ญธรรมชั่วคราว เส้นทางสัญจรไป-มาในขณะนั้นเป็นเพียงทางท้าวที่เชื่อมต่อถนนใหญ่ด้านหน้าเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร

          หลวงพ่อชา สุภัทโท คิดจะปรับปรุงถ้ำแสงเพชรให้เป็นวัด เป็นสาขาที่ 5 ของวัดหนองป่าพง จึงนำลูกศิษย์จากวัดหนองป่าพง เริ่มแผ้วถางป่า ทำทางผ่านป่าละเมาะมุ่งสู่ถ้ำแสงเพชร โดยจัดให้พวกหนึ่งอยู่ที่ถ้ำแสงเพชรและตีระฆังเป็นระยะ และให้อีกพวกหนึ่งแผ้วถางทางไปตามเสียงระฆัง เมื่อได้แนวของเส้นทางแล้ว จึงกำหนดให้ถางออกกว้างโดยอาศัยปักไม้ไผ่ไว้เป็นระยะๆตามเสียงระฆังเป็นสามหลักเป็นเส้นตรงเดียวกัน ก่อนจะถอนแต่ละหลักไปปักข้างหน้าเรื่อยๆไปจนทะรุถึงถ้ำแสงเพชร เครื่องมือเครื่องใช้ มี มีด จอบ เสียม ตามแต่ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาจะหามาได้ ด้วยร่วมมือกันของชาวบ้านด้วยความเสียสละ โดยหวังเพียงบุญกุศล แม้จะได้ทางเข้าพอรถเล่นได้บ้าง แต่ยังไม่สะดวกนัก

          จนกระทั่งวันหนึ่ง นายช่าง น้อยเสริม แสงสุพรรณ นายช่างใหญ่แขวงการทางอุบลราชธานี พร้อมด้วยภรรยาได้มาเยี่ยมหลวงพ่อชา เกิดมีจิตศรัทธา จึงได้ชักชวน นายช่างใหญ่แขวงการทางอำนาจเจริญและคณะมาช่วยปรับปรุงเส้นทางเพื่อให้รถยนต์ สามารถเข้าออกได้สะดวกขึ้น

          ปี พ.ศ.2512 คุณกระจ่าง แซ่แต้ พร้อมญาติโยมได้มาทำบุญที่ถ้ำแสงเพชรได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของพระมีความขาดแคลนภัตตาหาร จึงได้มาถวายภัตตาหารเป็นประจำ ทำให้ความขาดแคลนบรรเทาลงได้บ้าง

          ในปี พ.ศ.2512 คุณกระจ่าง แซ่แต้ และ คุณแสงจันทร์ หอมศรี ได้สร้างกุฏิถวายหลวงพ่อชา หนึ่งหลังบนเนินเขาเล็กๆ ชาวบ้านเรียกว่าภูเพ็ก ให้หลวงพ่อพักจำพรรษา หลวงพ่อตั้งชื่อ กุฏิหลังนี้ว่า “ กุฏิแสงจันทร์กระจ่าง “ เป็นกุฏิหลังแรกของวัดถ้ำแสงเพชร ฯลฯ

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 15,160,078